ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย” ตอน 1
คนไทยหลายๆ คนอาจเติบโตมาด้วยความรู้สึกสงสัย หรืออาจมีความอยากรู้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของสิ่งต่างๆ รอบตัว วิถีชีวิต การเรียนรู้ หรือวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่รวมศูนย์ความสะดวกสบายอย่างวัตถุนิยม เข้าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต โดยเฉพาะรูปแบบสังคมเมืองสมัยใหม่ในปัจจุบัน สิ่งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมักจะถูกจดจำ ให้ความใส่ใจมากกว่า นับเป็นเรื่องธรรมดา การที่เด็กๆ วัยรุ่น หรือคนร่วมสมัยในปัจจุบันนั้น ทราบอย่างลึกซึ้งว่าโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ มีอะไรบ้าง หรือคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันพัฒนาไปถึงจุดไหน ให้ความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างไรบ้าง นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป
แต่เรื่องที่อาจจะแปลกและควรแก่การทบทวนนึกถึง อาจจะเป็นเรื่องสำคัญบางส่วนเสี้ยวของชีวิต เช่น เรื่อง คนไทยมาจากไหน คนไทยมีอัตลักษณ์ที่แท้จริงอย่างไร เรื่องเหล่านี้ หลายๆ คนอาจไม่รู้ไม่สนใจด้วยซ้ำ บางคนอาจไม่ทราบว่าแต่เดิมประเทศไทย มีชื่อเรียกว่า ประเทศสยาม แล้วประเทศสยามที่เคยเรียกหรือเคยเป็นในอดีตนั้นเป็นอย่างไร คำตอบเหล่านี้ ยังมีคนต้องการฟังอีกหรือไม่ หรือมันเป็นสิ่งที่ควรหรืออาจจะถูกลืมไปได้แล้ว ??
"ประเทศสยาม" กับ "ประเทศไทย" มีความเป็นมาอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงของชื่อประเทศ ทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นบ้างหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยไปอย่างไร ?? เรื่องนี้อาจจะมีคนที่สงสัยอยู่ หลายคนอยากจะศึกษาหาความรู้ไว้ประดับสมอง เผื่อยามแก่เฒ่าจะได้เอาไว้เล่าให้ลูกหลานได้ฟังบ้าง จากความสงสัยของคนรุ่นหนึ่ง อาจส่งต่อความรู้สู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี และควรค่าแก่การสงสัยและพยายามค้นหาคำตอบ เพื่อมาเล่าสู่กันฟัง หากหลายๆ ท่านที่อ่านบทความนี้แล้วถูกใจ ก็อาจนำไปต่อยอด ค้นหาเพิ่มเติม เพื่อมาเล่าเรื่องให้กันและกัน และอาจได้ส่งต่อถึงคนรุ่นหลานต่อไป
เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศสยาม และประเทศไทยนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ว่า บางคนอาศัยพจนานุกรมภาษาสันสกฤต – อังกฤษ ของเซอร์ โมเนียวร์วิลเลียม (พิมพ์ในศตวรรษที่ ๑๘) เป็นหลักในการค้นหามูลศัพท์ภาษาไทยนั้นพบว่า มีคำสันสกฤตคำหนึ่งเขียนเป็นอักษรลาตินตามเครื่องหมายออกเสียงสำหรับสันสกฤตว่า
“SYAMA” ตรงกับอักษรวิธีไทย “ศยามะ” แปลว่า “ดำ” “สีคล้ำ”, “สีน้ำเงินแก่”, “สีน้ำตาลแก่”, ฯลฯ
บางคนที่กล่าวถึงนี้จึงสันนิษฐานว่าคำว่า “สยาม” มิได้มีมูลศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ครั้นแล้วก็สันนิษฐานว่าคำว่า “สยาม” แผลงมาจากคำจีน “เซี่ยมล้อ” อันเป็นภาษาของจีนแต้จิ๋วตามที่ผู้สันนิษฐานสันทัดในการได้ยินคนจีนส่วนมากที่อยู่ในสยามโดยมิได้คำนึงว่าจีนแต้จิ๋วเป็นจีนเพียงในจังหวัดหนึ่งแห่งมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน อันที่จริงจีนส่วนมากหลายร้อยล้านคนในประเทศจีนนั้นพูดภาษาจีนกลาง หรือใกล้เคียงกับจีนกลาง เรียกชื่อประเทศสยามมาตั้งแต่โบราณกาลว่า “เซียนโล๋” มิใช่ “เซี่ยมล้อ”
ส่วนชาวยุโรปที่เดินทางเรืออ้อมแหลมอาฟริกามายังอินเดียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ แล้วเดินทางต่อมายังประเทศสยามนั้นได้เรียกและเขียนชื่อประเทศสยามว่า “SIAM” มิใช่เขาเดินทางเรือไปประเทศจีนก่อนแล้วจึงวกกลับมาประเทศสยาม ดั่งนั้นชาวยุโรปสมัยนั้นและสมัยต่อมาจึงเรียกชื่อประเทศสยามตามที่ชาวอินเดียใต้, ชาวสิงหฬ, ชาวมลายู เรียกว่า “เซียม” และก็ตรงกับที่พระมหากษัตริย์สยามได้เรียกชื่อประเทศของพระองค์ในพระราชสาส์นที่มีไปยังประมุขประเทศต่าง ๆ จึงทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศสยามในนามว่า “SIAM” มาหลายศตวรรษ เอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศสยามมีอยู่มากมายที่เราจะค้นดูได้จากสารบัญว่า “SIAM”
การศึกษาประวัติศาสตร์ทางนิรุกติศาสตร์ก็ดี นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็ดีนั้นจำต้องอาศัยเอกสารทางราชการเป็นหลักอ้างอิงด้วยในบรรดาเอกสารทางราชการนั้นมีบทกฏหมายที่พระมหากษัตริย์สยามตั้งแต่สมัยโบราณได้จารึกไว้ เท่าที่ค้นได้ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีจารึกไว้ในสมุดข่อยที่เรียกชื่อประเทศสยามเป็นภาษาบาลีว่า “สามปเทส”
เมื่อจุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๗ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนากฎหมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา,ธนบุรี,ที่ยังใช้อยู่แล้วมีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมจารึกไว้บนสมุดข่อย (ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และฉบับต่อมาได้เอาอย่างมาจารึกรัฐธรรมนูญ) แล้วประทับตรา ๓ ดวง คือ ตราพระราชสีห์, พระคชสีห์, บัวแก้ว กฎหมายนี้มีชื่อเรียกกันว่า “กฎหมายตรา ๓ ดวง” ซึ่งเป็นต้นฉบับเก็บไว้ห้องเครื่อง ๑ ฉบับ, หอหลวง ๑ ฉบับ, ศาลหลวงสำหรับลูกขุน ๑ ฉบับ
ในรัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลได้คัดมาพิมพ์โดยวิธีเรียงพิมพ์เรียกกันว่า “กฎหมาย ๒ เล่ม”
ในรัชกาลที่๕ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นราชบุรี (พระอิสริยยศขณะนั้น) ได้คัดมาพิมพ์โดยวิธีเรียงพิมพ์เรียกกันว่า “กฎหมายราชบุรี” มี ๒ เล่ม
ในพ.ศ. ๒๔๗๔ ข้าพเจ้าได้พิมพ์โดยถ่ายภาพจากต้นฉบับสมุดข่อยแล้วทำบล๊อคเพื่อให้ตรงตามต้นฉบับเฉพาะ “บานแพนก” และ “พระธรรมศาสตร์” แต่เพราะเหตุที่คำบาลีในต้นฉบับเขียนเป็นอักษรขอม ข้าพเจ้าจึงได้พิมพ์โดยวิธีเรียงพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง ถ่ายทอดอักษรขอมนั้นเป็นภาษาไทย ส่วนข้อความใดที่เป็นอักษรไทยอยู่แล้วก็ได้เรียงพิมพ์ตามอักขรวิธีในต้นฉบับ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ (ภายหลักรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐) ได้ใช้หนังสือเล่มนั้นของข้าพเจ้าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่อ้างอิงไว้ด้วยดั่งปรากฏในบัญชีอักษรย่อที่ใช้ในพจนานุกรมนั้นหน้า ๖ ว่าดังนี้
“ตราสามดวง” : กฎหมายตราสามดวง ฉบับเรียงพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมรวมโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”
ความปรากฏว่าคำว่า “สยาม” มาจากภาษาบาลี “สาม” (สามะ) ข้าพเจ้าจึงขอคัดความตอนหนึ่งในหมวด “พระธรรมศาสตร์” ดังต่อไปนี้
“….ยญจ สตฺถํ อันว่าคัมภีรอันใด โลกหิตํ เป็นปรโยชนแก่สัตวโลกย ปากฏํ ปรากฏิ ธมฺมสตฺถํ อิติ ชื่อว่าคำภีรพระธรรมสาตร มนุสาเรน อันพระมโนสารฤาษี ภาสิตํ กล่าว อาทิโต ในต้นมูลภาสาย ด้วยมคธภาษา ปรมฺปราภตํ อันปรำปราจารยนำสืบกันมา ปติฏฐิตํ ตั้งอยู่ รามญฺเญสุ ในรามัญปรเทษ ภาสาย ด้วยภาษา รามญฺญสฺสจ แห่งรามัญ ก็ดี อิทานิ ในกาลบัดนี้ ปุริเสน อันบุรุษผู้เป็นวินิจฉัยอำมาตย ทุคฺคาฬฺหํ จะยังรู้เปน อันยาก อหิ สามเทเสในสยามปรเทษนี้ ตสฺมา เหตุดั่งนั้น อหํ อันว่าข้า รจิสฺสํ จักตกแต่ง ตํ ธมฺมสตฺถํ ซึ่งคำภีรพระธรรมสาตรนั้น สามภาสาย ด้วยสยามภาษา ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย สุณาถ จงฟัง ตํ สตฺถํ ซึ่งคัมภีรพระธรรมศาสตร์นั้น สนฺติกา แต่สำนักนิ เม แห่งเรา”
คำว่า “เทเส” เป็นคำบาลีที่แปลงท้ายคำตามไวยากรณ์บาลี (วิภัตติ) ของมูลศัพท์ “เทส” ซึ่งแปลว่าบ้านเมือง,แว่นแคว้น มีความหมายตรงกับ “ปเทส” (PADESA) คำว่า “สาม” (สามะ) ในภาษาบาลีมีความหมายอย่างตามที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ของริสเดวิดส์กล่าวไว้เช่น
(๑) สีดำ
(๒) สีเหลือง, สีทอง ตามความหมายนี้ “สามปเทส” จึงหมายถึงแว่นแคว้นแห่งเมืองทองหรือสุวรรณภูมิดังที่เพลงชาติของประเทศสยามก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยมีเนื้อร้องตั้งต้นด้วยประโยคว่า “ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง…” ต่อมาเมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทยแล้วทางราชการได้เปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย” ซึ่งไม่ตรงตามหลักวิชาว่าด้วยเชื้อชาติเพราะในประเทศไทยมีคนเชื้อชาติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เนื้อเพลงนี้จึงเป็นการคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เพื่อรวมคนเชื้อชาติไทยในดินแดน อื่นๆ ด้วย โดยไม่คำนึงว่าคนเชื้อชาติไทยในดินแดนเหล่านี้จะยอมผนวกเข้ากับประเทศไทยหรือจะเรียกร้องเป็นอย่างอื่น
(๓) ข้าพเจ้าเห็นว่ายังมีความหมายที่อาจแผลงมาจากคำบาลี “สม” (สะมะ) ที่แปลว่า “ความสงบเรียบร้อย” “ความเสมอภาค” ถ้าพิจารณาถึงชื่อ “กรุงศรีอยุธยา” ที่แปลว่า กรุงแห่งไม่มีการรบอันประเสริฐคือสันติภาพอย่างยิ่งแล้ว ก็ควรเชื่อได้ว่า พระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนได้ใช้คำว่า “สยาม” โดยแผลงมากจากคำว่า “สาม” ทั้งในความหมายของ “เมืองทอง” และในความหมายที่แผลงมาจาก “สม” (สะมะ) ที่แปลว่าความสงบเรียบร้อยและความเสมอภาค เพราะพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนทรงทราบเป็นอย่างดีว่าราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงเป็นประมุขนั้น แม้ประกอบด้วยชนชาติไทยเป็นส่วนมากก็ตามแต่ก็ยังมีคนเชื้อชาติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย จึงทรงเห็นเป็นการเหมาะสมที่จะเรียกอาณาจักรนี้ว่า “สยาม” หมายความว่าทุกชนชาติที่รวมอยู่ในประเทศของเรานี้มีความเสมอภาคกันและมีอุดมคติสันติภาพตั้งอยู่ในแว่นแคว้นแห่งเมืองทองหรือ สุวรรณภูมิ
บทความอ้างอิง
ปรีดี พนมยงค์ . ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
สาเหตุแห่งการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยนั้นสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศและบรรดาศักดิ์ขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีแห่งรัฐบาลนั้นมีข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ มีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่ว่าการกระทรวง)
ต่อมาประมาณอีก ๔-๕ เดือน หลวงวิจิตรวาทการได้เดินทางไปฮานอยเพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส เมื่อหลวงวิจิตรฯ กลับจากฮานอยได้นำแผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสนั้นได้จัดทำขึ้นแสดงว่ามีคนเชื้อชาติไทยอยู่มากมายหลายแห่งในแหลม อินโดจีน ,ในประเทศจีนใต้, ในพม่า, และในมณฑลอัสสัมของอินเดีย
ครั้นแล้วผู้ฟังวิทยุกระจายเสียงได้ยินและหลายคนยังคงจำกันได้ว่าสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ (ต่อมาปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) ได้กระจายเสียงเพลงที่หลวงวิจิตรฯ รำพันถึงชนเชื้อชาติไทยที่มีอยู่ในดินแดงต่างๆ และมีการโฆษณาเรื่อง “มหาอาณาจักรไทย” ที่จะรวม ชนเชื้อชาติไทยในประเทศต่างๆ เข้าเป็นมหาอาณาจักรเดียวกันทำนองที่ฮิตเลอร์กำลังทำอยู่ในยุโรปในการรวมชนเชื้อชาติเยอรมันในประเทศต่างๆ ให้เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรเยอรมัน
ในการประชุมวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปัญหาด่วนนอกระเบียบวาระโดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงให้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” โดยนำสำเนาแผนที่ฉบับที่สำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศสทำไว้ว่าด้วยแหล่งของชนเชื้อชาติไทยต่างๆ มาแสดงในที่ประชุมด้วย โดยอ้างว่า “สยาม” มาจากภาษาสันสกฤต “ศยามะ” แปลว่า “ดำ” จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทยซึ่งเป็นคนผิวเหลืองไม่ใช่ผิวดำ และอ้างว่าคำว่า “สยาม” แผลงมาจากจีน “เซี่ยมล้อ”
ข้าพเจ้าได้คัดค้านว่าโดยที่ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ค้นคว้ากฏหมายเก่าของไทยโดยอาศัยหลักฐานเอกสารที่จารึกไว้โดยพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนรวมทั้ง “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งรัชกาลที่ ๑ (พระพุทธยอดฟ้าฯ) ได้โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาย (ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวในข้อ ๒) และมิใช่คำว่า “สยาม” แผลงมาจากคำจีนแต้จิ๋ว “เซี่ยมล้อ” (ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในข้อ ๑) แต่จุดประสงค์เบื้องหลังของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนหนึ่งต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศว่าประเทศไทยเพื่อรวมชนชาติไทยในดินแดนต่างๆ เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรไทย ดังนั้นรัฐมนตรีส่วนมากจึงตกลงตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น “ประเทศไทย” ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี
ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติเห็นชอบในการเปลี่ยนชื่อประเทศซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามให้ตราเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
รอติดตาม ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย ตอน 2
ได้ในโอกาสต่อไป
โพสต์บทความ โดย .... The Text
บทความอ้างอิง
ปรีดี พนมยงค์ . ความเป็นมาของชื่อ “ประเทศสยาม” กับ “ประเทศไทย”
No comments:
Post a Comment